วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ตำนานลีลาศในเมืองไทย


ตำนานลีลาศในเมืองไทย
โดย: ป๋าหยิบ ณ นคร (สัมภาษณ์เมื่อ พ.ศ. 2521 )

ใคร? คือนักเต้นรำคนแรกของไทย
สมาคมเต้นรำในไทย ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่ ? ชื่ออะไร ?
การแข่งขันลีลาศครั้งแรก จัดขึ้นที่ไหน ?
ใคร? เป็นแชมเปี้ยนคู่แรกของไทย
คำว่าลีลาศ เริ่มใช้เมื่อไหร่ ?

เมื่อเอ่ยชื่อป๋าหยิบดูเหมือนในวงการลีลาศของบ้านเมืองเรา จะไม่รู้สึกแปลกหน้าเท่าใดนัก เพราะนอกจากท่านจะเป็นนักลีลาศ ที่เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรกของเมืองไทย ที่ได้ออกไปร่ำเรียนวิชาการด้านนี้ มาจากยุโรปด้วยตนเองแล้ว ท่านยังเป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถเคลื่อนกายไปตามจังหวะทำนองของเสียงเพลง ได้อย่างงดงาม และเต็มไปด้วยศิลป จนชาวยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของการลีลาศยังยอมรับนับถือ และให้ตำแหน่งแชมเปี้ยนภาคเหนือของลอนดอนให้กับท่านอีกด้วย

ถึงแม้ว่าป๋าหยิบ ณ นคร ท่านจะเสียชีวิตไปหลายปีแล้วก็ตามแต่ จากคำให้สัมภาษณ์ของท่าน ในนิตยสารลีลา ของครูบุญเลิศ กระบวนแสง ฉบับที่ 2 เดือนกันยายน 2521 ที่เลิศชายและธานี ได้ไปสัมภาษณ์ในครั้งนั้น เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับตำนาน และความเป็นมาของวงการลีลาศเต้นรำในบ้านเราเป็นอย่างมาก ลีลาศ.คอม จึงขอนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันอีกครั้งหนึ่ง.......

เริ่มเต้นรำตั้งแต่เมื่อไรครับ
" หัดมาตั้งแต่อยู่เมืองนอก "

ก่อนไปเมืองนอกยังไม่เป็นใช่ไหมครับ
" ยังไม่เป็น ตอนนั้นอายุเพียง 18 ปี และก็อยู่กับในหลวงตั้งแต่อายุ16 พออายุ 18 ปีจึงได้ไปเมืองนอก ไปอังกฤษ กับ อเมริกา อยู่ที่อังกฤษ 5 ปี แล้วก็เปลี่ยนไปอยู่ที่อเมริกาอีก 3 ปี ก็รวมเวลาอยู่เมืองนอกทั้งหมด 8 ปีด้วยกัน "

การเต้นรำก็คงเป็นที่ประเทศอังกฤษ
" เป็นที่อังกฤษนั่นแหละ เพราะเขาเป็นประเทศต้นตำรับ ผมกลับจากเมืองนอกมาประเทศไทย ตอนอายุประมาณ 27 ปี มาถึงก็เต้นรำมาจากที่นั่นแล้ว ดูเหมือนเมื่อตอนกลับจากเมืองนอกนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 6 สวรรคตพอดี "

ตอนที่เดินทางกลับ เป็นปี พ.ศ. อะไรครับ
" ตอนไปเป็นปี ค.ศ. 1918 ไปอยู่เมืองนอกเสีย 8 ปี ตอนกลับก็คงเป็น 1925 ตอนกลับนั้น ในหลวงท่านสวรรคต พอถึงกรุงเทพฯ เจ้าพระยารามฯ จึงรีบมารับตัวไปเฝ้าพระบรมโกฐ ดูเหมือนหลังจากไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่เสร็จ ก็อาบน้ำแต่งตัวไปวัดเลย คืนแรกที่ถึงเมืองไทยนั่น ผมก็ไปนอนเฝ้าพระโกฐในหลวงรัชกาลที่ 6 "

กลับมาถึงเมืองไทย มีการเต้นรำกันหรือยัง
" มีแล้ว ตามบันทึกของแหม่มแอนนานั้น เมืองไทยเรามีคนเต้นเป็นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มาแล้ว และคนที่เป็นนักเต้นรำคนแรกก็คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในบันทึกของแหม่มแอนนาเล่าว่า แหม่มแกพยายามจะสอนพระองค์ท่าน ให้รู้จักวิธีการเต้นรำแบบสุภาพ ซึ่งเป็นที่นิยมของชนชาติตะวันตก หลังจากที่ได้ดูละคอน ที่แสดงอยู่ในวังแล้ว ก็เลยมาคุยถึงเรื่องการเต้นรำ พร้อมกับแสดงท่าบอกว่าจังหวะวอลซ์นั้นหรูมาก เขาเต้นกันในวังยุโรป เต้นอย่างนี้ เต้นอย่างนั้น พระจอมเกล้าก็ทรงนิ่งฟังอยู่เฉยๆ ไม่ออกความคิดเห็นอะไร แต่พอแหม่มแอนนาลุกขึ้นแสดงท่า พระองค์กลับสอนว่า ใกล้เกินไป แขนต้องวางให้ถูก แล้วท่านก็เต้นจนแหม่มแอนนางงไปเลย ทูลถามว่า ใครเป็นคนสอนให้ พระองค์ก็ไม่ตอบ "

เรื่องก็เลยยังไม่รู้ว่า ใครเป็นคนสอนรัชกาลที่ 4 เต้นรำ
" ใช่ ยังไม่มีใครรู้ว่า ใครเป็นผู้สอนพระองค์ท่าน แต่มาสันนิษฐานกันว่า พระองค์ท่านทรงพระปรีชาสามารถหลายทาง ดูฤกษ์สุริยุปราคาชำนาญมาก ก็เลยคิดกันว่า พระองค์อาจฝึกเต้นรำด้วยตำรา "

ก็หมายความว่า รัชกาลที่ 4 เป็นคนไทยพระองค์แรกที่เป็นนักเต้นรำ
" ผมทึกทักเอาเองว่าเป็นเช่นนั้น "

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เล่าครับ
" ในสมัยรัชกาลที่ 5 ผมเคยได้ฟังมาว่า มีเจ้านายบางวังเต้นรำกันเป็นแล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่เต้นกัน ก็มักเป็นจังหวะวอลซ์อย่างเดียว พอเดาได้ว่าเป็นกันมานานแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่นิยมกว้างขวาง อย่างเช่นตอนที่มีการแสดงละคอนเรื่องพระอภัยมณี ตอนนางละเวงได้กับพระอภัย นางละเวงที่แสดงโดยน้องสาวฝรั่ง ก็สอนให้พระอภัยซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเจ้านายวังไหน เต้นรำจังหวะวอลซ์ ซึ่งพระอภัยมณีในเรื่องก็ลุกขึ้นทำท่าทางตามจังหวะนั้นจริงๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ดูจะมีการเต้นรำกันบ้างแล้ว ทุกปีที่มีงานเฉลิมพระชนมพรรษา ก็จะมีงานเต้นรำกันที่ในวัง โดยมีในหลวงเป็นประธาน จัดกันที่พระที่นั่งจักรีฯ หรืออาจเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของพระราชฐานก็ได้ อาจเป็นที่ศาลาสหไทยกระมัง ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น พวกทูตต่างๆต้องมาเฝ้ากันหมดในวันนี้ "

กลับจากยุโรปมาถึงเมืองไทย ตอนนั้นเมืองไทยมีสมาคมเต้นรำเกิดขึ้นหรือยังครับ
" ผมกลับมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 7 ตอนนั้นรู้สึกว่ามีการลีลาศตามสถานที่ต่างๆ แล้ว อย่างเช่นที่ห้อยเทียนเหลา และเก้าชั้น อีกแห่งหนึ่งคือคาเธ่ย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสลากกินแบ่งเดี๋ยวนี้ เขามีการลีลาศกันแล้ว ผมกลับมาผมก็ออกเที่ยวไปตามที่ต่างๆ เหล่านี้ เที่ยวไปเรื่อยๆ ยังไม่รู้ว่ามีสมาคมเต้นรำที่ไหนหรือไม่ จนกระทั่งพบกับหม่อมเจ้าวรรณ ไวทยากร ในวันเปิดโลลิต้าวันแรก ซึ่งตอนนั้นหม่อมเจ้าวรรณ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาชาติ "

ขณะนั้นหม่อมเจ้าวรรณ เป็นอะไรเกี่ยวกับวงการเต้นรำ
" ไม่ได้เป็นอะไรเลย ตอนที่ท่านกลับจากนอก ท่านลาออกจากฑูต ท่านเป็นฑูตอยู่ที่ประเทศอังกฤษหรือฝรั่งเศสก็ไม่รู้แน่ "

ท่านมีบทบาทอะไรเกี่ยวกับการลีลาศ
" ผมชวนท่านมาเต้นรำ ท่านก็บอกว่า เรามาตั้งสมาคมดีไหม ตกลงใจจัดตั้งโดยใช้ชื่อว่า สมาคมสมัครเล่นเต้นรำ ”"

มีใครบ้างเป็นผู้ริเริ่ม
" หลวงเฉลิม หมอเติม พระยาปกิต กลสาร พระยาวิชิต หลวงชาติ หลวงสุขุม ซึ่งล้วนแต่เป็นพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ สมาคมสมัครเล่นเต้นรำมีสมาชิกเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ จึงมักพาลูกสาวลูกชายมาพบกัน เต้นรำกัน เลยทำให้ต่อมามีคนในกลุ่มนี้แต่งงานกันหลายคู่ ตอนนั้นพระองค์เจ้าวรรณเป็นนายกสมาคม ตั้งเป็นสมาคมแต่ไม่ได้จดทะเบียน โดยผมเป็นเลขาธิการสมาคม "

เรียกว่าสมาคมหรือชมรมครับ
" สมาคม ตอนนั้นไม่ได้จดทะเบียน "

ตั้งขึ้นเมื่อปีอะไรครับ
" 2475 "

ตอนนั้นปฏิวัติหรือยัง
" ผมยังนึกไม่ออก แต่ในปี 2475 เพราะจากนั้นไป เรามีกรรมการต่างๆ และเกิดสโมสรคณะราษฎร์ขึ้น "

ตอนเกิดชมรมขึ้นนี้ สถานที่ตั้งอยู่ที่ไหน
" ที่บ้านพระองค์เจ้าวรรณบ้าง บ้านพระยาปกิตบ้าง บ้านผมบ้างหมุนเวียนกันไป บางทีก็นัดไปแห่งอื่น ต่อมาเมื่อมีพรรคพวกมากขึ้น จนมีงานลีลาศขึ้นที่สมาคมคณะราษฎร์ ซึ่งพระยาพหล หัวหน้าคณะราษฎร์ กำลังจะเสร็จการและเลี้ยงฉลองที่วังสราญรมย์ ก็วังสราญรมย์เดี๋ยวนี้นั่นแหละ สมัยนั้นทุกโต๊ะมีโทรศัพท์สำหรับติดต่อกันได้ พระพหลเข้าไปเที่ยวงาน เขาก็ให้ผมขึ้นไปเชิญท่านขึ้นมาลีลาศ จากนั้นก็มีการลีลาศกันบ่อยเข้า และมีการแข่งขันกันเกิดขึ้น "

การแข่งขันกันครั้งแรกเกิดขึ้นที่ไหน
" ก็ที่วังสราญรมย์นั่นแหละ "

กรรมการตัดสินเอามาจากไหน
" เอามาจากพวกที่เป็นเต้นรำมาจากเมืองนอกของสมาคมสมัครเล่นเต้นรำ เช่นคุณหลวงเฉลิม สุนทรกาญจน์ หมอเติม บุนนาค หม่อมหลวงปิธิ หม่อมราชวงค์สถิตย์ ซึ่งพวกนี้ก็เลยเป็นกรรมการตัดสินกันมาเรื่อยๆ "

ใครเป็นแชมเปี้ยนคนแรกของประเทศไทย
" พลเรือตรีเฉียบ แสงชูโต คู่กับ คุณประนอม สุขุม เป็นแชมเปี้ยนคนแรกของประเทศไทย "

คุณประนอมสุขุมนี่ใช่ไหมที่ต่อมาเป็นคู่ชีวิตของท่าน
" ก็ใช่น่ะซิ "

พอจะทราบไหมครับว่า ตอนไหนที่เริ่มเรียกเต้นรำว่า ลีลาศ
" ระหว่างปี 2475 ถึง 2476 มีนิสิตนักศึกษากลุ่มหนึ่ง คอยกระเซ้าพวกที่อยู่ในสมาคมสมัครเล่นเต้นรำว่า นั่นไงพวกสมาคมสมัคร...(คำผวนของคำว่าเต้นรำ) พวกเราจึงนำเอาไปกราบเรียนพระองค์เจ้าวรรณ พระองค์เจ้าวรรณจึงบัญญัติคำว่า ลีลาศ ขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก และลงในหนังสือพิมพ์ประชาชาติทันที นับตั้งแต่นั้นมา ก็ใช้คำว่าลีลาศแทนคำว่าเต้นรำกันเรื่อยมา และผมเองก็ทำหน้าที่กรรมการตัดสิน และเป็นกรรมการด้วยตลอดมา "

แล้วสมาคมสมัครเล่นเต้นรำ ต่อมาเป็นสมาคมอะไร
" ต่อมาสมาคมสมัครเล่นเต้นรำก็สลายไป เพราะแต่ละคนเริ่มเป็นผู้ใหญ่ หน้าที่การงานดึงเวลาไป แต่ผมก็ไปซ้อมอยู่เสมอ มาระยะหลังตอนที่คุณจิตเสน (อดีตนายกสมาคมลีลาศ) สิ้นชีวิต ก็มีคนมาแนะนำให้ผมไปเป็นประธานแทนคุณจิตเสน ต่อมาระยะหลัง ครูลีลาศต่างๆ มีความคิดริเริ่มว่า ควรมีสมาคมครูลีลาศ ผมก็เลยรับภาระเป็นศูนย์กลาง โดยใช้บ้านผมเป็นสถานที่ชุมนุมกัน จนสมาคมครูลีลาศเป็นรูปร่างขึ้นมา สามารถส่งนักลีลาศไปแข่งขันต่างประเทศได้ หรือถ้าต่างประเทศเข้ามาแข่งในไทย ผมก็เป็นผู้จัดการต้อนรับ และจัดการแข่งขันจนได้ชื่อว่า เราเป็นประเทศเดียวที่ให้ถ้วยแก่แชมเปี้ยนโลกด้วยถ้วยทองลงยา "






ที่มา : นิตยสาร Dance Sport ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ประจำเดือนมิถุนายน 2539