วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ประวัติกีฬาลีลาศ 10 จังหวะ


ประวัติกีฬาลีลาศ 10 จังหวะ
บทความโดย : Piet Rullens
แปลและเรียบเรียงโดย : สิทธิชัย ปรียาดารา และ กวี วิโรจน์สายลี



WALTZ
รูปแบบของจังหวะ วอลซ์
สำหรับบรรดาผู้เข้าแข่งขัน " วอลซ์ " จะเป็นจังหวะแรกเสมอ ที่จะแสดงให้ประจักษ์แก่คณะกรรมการตัดสิน และจะเป็นโอกาสเพียงหนึ่งเดียว ที่จะสร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็น (First Impression) ลองคำนึงถึงว่า บ่อยครั้งกรรมการตัดสินจะไม่รู้จักคุณเลย และไม่ทราบว่ามาตรฐานการเต้นรำของคุณอยู่ระดับไหน! เมื่อคู่แข่งขันเริ่มย่างลงสู่ฟลอร์ กรรมการตัดสินและผู้ชม (ให้นึกถึงตัวเอง) จะเริ่มกวาดตาเพื่อมองหาคู่ที่เด่นที่สุด หรือแชมเปี้ยนในทันที ข้อควรคำนึง! ถ้าคุณทำตัวให้ดูเหมือน และประพฤติเฉกเช่นแชมเปี้ยนแล้ว คุณต้องแสดงการเต้นของจังหวะนี้ ให้ดูเหมือนแชมเปี้ยนคนหนึ่ง เพื่อยืนยันในการสร้างความประทับใจเป็นครั้งแรกที่สุด โดยดึงดูดความสนใจของกรรมการ และผู้ร่วมชมมายังคู่ของคุณ ตั้งแต่ย่างก้าวแรกที่ลงสู่ฟลอร์การแข่งขัน บรรดาคู่แข่งขันจำนวนไม่น้อย ที่ประเมินผลกระทบจากการสร้างความประทับใจครั้งแรกต่ำเกินไป จังหวะวอลซ์ ยามฝึกซ้อม หรือการวางแผนการเรียน ให้คิดถึงความสำคัญข้อนี้ด้วย


ต้องคำนึงถึงว่า คู่เต้นรำอื่นๆ อาจเจียดเวลาถึง 40% ของการฝึกซ้อมให้กับจังหวะวอลซ์ และถ้าคุณเป็นหนึ่งในจำนวนนั้นละก็ ถือได้ว่าคุณได้เดินอยู่บนหนทางแห่งความสำเร็จแล้ว

ประวัติของจังหวะ วอลซ์
ช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1910 - 1914 ฝูงชนได้หลั่งไหลไปที่บอสตันคลับในโรงแรมซาวอย ที่ตั้งอยู่ ณ กลางกรุงลอนดอน เพื่อเต้นรำจังหวะ " บอสตัน วอลซ์ " ซึ่งเป็นต้นแบบของวอลซ์ ที่ใช้ในการแข่งขันปัจจุบัน ใน ปี ค.ศ. 1914 จังหวะบอสตันได้เสื่อมสลายลง เบสิคพื้นฐานได้ถูกเปลี่ยนไปในทิศทางของ " วอลซ์ " หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จังหวะวอลซ์ ได้เริ่มถูกพัฒนาให้ถูกทางขึ้น ด้วยท่าแม่แบบ อย่างเช่น The Natural และ Reverse Turn และ The Closed Change ความก้าวหน้าในการพัฒนาจังหวะ " วอลซ์ " เป็นไปอย่างยืดยาด และเชื่องช้า ผู้ที่ได้ทุ่มเทกับการพัฒนาจังหวะนี้เป็นพิเศษ ต้องยกให้ มิส โจส์เซฟฟิน แบรดลีย์ (Josephine Bradly) วิคเตอร์ ซิลเวสเตอร์ (Victor Silvester) และ แม็กซ์เวลล์ สจ๊วตด์ (Maxwell Steward) และแพ็ทไซด์ (Pat Sykes) แชมป์เปี้ยนคนแรกของชาวอังกฤษ


สถาบันที่ได้สร้างผลงานต่อการพัฒนาท่าแม่แบบต่างๆ ให้มีความเป็นมาตรฐาน คือ "Imperial Society of Teachers of Dancing" (I S T D) ท่าแม่แบบเหล่านี้ บรรดานักแข่งขันยังคงใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ วอลซ์
เอกลักษณ์เฉพาะสวิง และเลื่อนไหล นุ่มนวล และเคลื่อนเป็นวง ซาบซึ้งและเร้าอารมณ์
การเคลื่อนไหว การสวิง ลักษณะแกว่งไกวแบบลูกตุ้มนาฬิกา
ห้องดนตรี 3/4
ความเร็วต่อนาที 30 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีท (Beat) ที่ 1
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
การขึ้นและลง เริ่มยืดขึ้นหลังจบ 1 ขึ้นต่อเนื่องตอน 2 และ 3 หน่วงลดลงหลังจบ 3
หลักพลศาสตร์
ความสมดุลย์ที่ดีสัมพันธ์กับการเลื่อนไหล การใช้น้ำหนัก จังหวะเวลา และการเคลื่อนไหวที่โล่งอิสระ
การสื่อความหมายของจังหวะ วอลซ์
ลักษณะท่าทางอย่างหนึ่งที่ต้องมีให้เห็นจากนักแข่งขัน ไม่ว่าจะระดับไหน คือ ลักษณะการแกว่งไกวของลูกตุ้มนาฬิกา เปรียบเทียบได้กับการแกว่งของลูกตุ้มระฆัง จังหวะวอลซ์ต้องมีการสวิงขึ้นและลง ที่มีความสมดุลย์ ในระดับที่ถูกต้อง ด้วยการเคลื่อนไหวที่โล่งอิสระ โครงสร้างของท่าเต้นต้องเป็นแบบที่มีการสวิง โยกย้าย นุ่มนวล เคลื่อนเป็นวง ซึ่งบังเกิดผลให้นักเต้นรำ เคลื่อนที่ไปอย่างเป็นธรรมชาติ และโล่งอิสระ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงแรงโน้มถ่วง โดยปกติแล้ววอลซ์ ควรประกอบด้วยลวดลายที่สามารถให้แสดงการควบคุม (Control) ที่ยอดเยี่ยม และเปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ ในหลายๆ กฎเกณฑ์ ดนตรีจะมีความโรแมนติก ชวนฝัน ละเอียดอ่อน และเปรียบเสมือนสตรีเพศ ซึ่งนี้คือ ข้อที่พึงระมัดระวังถึงของคู่แข่งขันจำนวนมาก เขาต้องปลดปล่อยให้ความรู้สึก ไวต่อการรับรู้ถึงจังหวะ และอัตราความเร็วของดนตรี และการเตรียมพร้อมที่จะเต้นให้แผ่วเบา อย่างมีขอบเขตและอิสระ
เหมือนกับทุกๆ จังหวะ การเต้นจากเท้าส่ง (Supporting Foot) จะขาดเสียไม่ได้เลย สำหรับ วอลซ์ แล้ว "ชั่วขณะที่ " เมื่อเริ่มยืดขึ้น (Rising) จากน้ำหนักเท้าส่งนั้นมีความสำคัญยิ่ง การลดลงพื้น (Landing) ขณะที่หน่วงลง (Lowering) บนเท้าที่รับน้ำหนัก (Supporting Foot) ตามความต้องการในแบบฉบับของ วอลซ์ ต้องเกร็งยืด (Tension) และควบคุม (Control)



TANGO
รูปแบบของจังหวะ แทงโก้
ถึงเวลาของแทงโก้แล้ว ซึ่งเปรียบเสมือนว่าเป็นผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่ง คุณจะมีเวลาเพียงแค่ 15 วินาที ที่จะผ่อนคลายร่างกายและจิตใจจากอาการสวิง และการเคลื่อนไหวที่โล่งอิสระจากการเต้น "วอลซ์ " จังหวะแทงโก้มีความแตกต่างกับจังหวะอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด มันไม่มีการขึ้นและลง (Rise and Fall) ไม่มีการสเวย์ของลำตัว (Body Sway) การเปลี่ยนท่าทางการเข้าคู่ (Holding) ต้นขาเบี่ยงเข้าหากัน และผู้เต้นควรเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อที่จะทำให้เกิดอาการกระแทกกระทั้นเป็นช่วงๆ (Staccato Actions) ตามที่จังหวะนี้ต้องการ เมื่อจังหวะแทงโก้ตั้งเค้าที่จะเริ่ม คุณลองใส่ความรู้สึกลงไปว่า คุณเป็นผู้ชม หรือผู้เข้าแข่งขันคู่หนึ่งที่อยู่ในสนามแข่งขัน ระดับความตึงเครียดและการเตรียมพร้อมจะมีสูงขึ้นอย่างผิดปกติวิสัย เปรียบเสมือนว่า สงครามย่อยๆ กำลังจะปะทุขึ้นบนฟลอร์การแข่งขันอย่างไรอย่างนั้น
สิ่งที่ข้าพเจ้าพยายามจะอธิบายอยู่ ณ ที่นี้ คือ คู่เต้นรำจำนวนมากไม่เคยได้ฝึกฝนการสับเปลี่ยนโดยฉับพลัน จากการเต้นจังหวะ วอลซ์ มาเป็นหลักการพื้นฐานของ แทงโก้ … เพียงแค่ 15 วินาที ! ควรคำนึงถึงเสมอว่าต้นแบบของแทงโก้ เมื่อเริ่มเตรียมเข้าคู่เพื่อการแข่งขัน คุณควรเตรียมพร้อมในการแผ่รัศมี เพื่อที่จะฉายแววของความเย่อหยิ่ง ยะโส ซึ่งเป็นแบบฉบับของชาวสเปน/อาร์เจนติน่า ก่อนหน้าที่ดนตรีจะเริ่มบรรเลง และก่อนที่จะเริ่มในย่างก้าวแรก เหล่ากรรมการตัดสินล้วนเป็นผู้ที่ไวมากต่อการรับรู้ และสังเกตการแผ่รัศมีนี้ในทันทีทันใด
ข้อสรุปของข้าพเจ้าตรงนี้ คือ การแข่งขันจังหวะแทงโก้นี้ ตั้งเค้าก่อนที่ดนตรีจะเริ่มบรรเลงเสียอีก

ประวัติของจังหวะ แทงโก้
จังหวะ มิรองก้า (Milonga) คือแม่แบบของแทงโก้ ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะคือ เคลื่อนไหวของศีรษะและไหล่ โดยการสับเปลี่ยนทันทีทันใด จากการที่กำลังเคลื่อนไหวสู่ความนิ่งสงบ
ต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีการเต้นรำจังหวะมิรองก้านี้ในโรงละครเล็กๆ โดยเหล่าชนสังคมชั้นสูงที่มาจากประเทศบราซิล ในช่วงเวลานั้น ชื่อของมันได้ถูกเปลี่ยนจากมิรองก้าเป็นแทงโก้ ชื่อของมิรองก้า ยังมีตำนานเล่าขานอีกมากมาย ที่จะหวนไปสู่ความทรงจำที่มีมาจากนครบัวโนส แอเรส (Buenos Aires) แห่งประเทศอาร์เจนติน่า
จังหวะแทงโก้ ได้ถูกแนะนำเข้าสู่ทวีปยุโรป ความจริงแล้วเริ่มก่อนในกรุงปารีส ในชุมชนชาวอาร์เจนติน่า กระทั่งปี ค.ศ. 1907 แทงโก้ไม่เป็นที่ยอมรับในกรุงลอนดอน การเต้นได้ส่อแนวไปในทางเพศสัมพันธ์มากเกินไป และมีคนจำนวนมากคัดค้าน ภายหลังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบ (Stylistic) ไปบ้าง จังหวะแทงโก้ ถึงได้รับการยอมรับในกรุงปารีส และลอนดอน ในเวลานั้น (ค.ศ. 1912) ซึ่งเป็นช่วงเวลาของแทงโก้ปาร์ตี้ แทงโก้ทีส์ และแทงโก้ซุปเพียร์ ร่วมกันกับการแสดงของเหล่านักเต้นแทงโก้มืออาชีพ
ในปี ค.ศ. 1920/1921 จังหวะแทงโก้ ได้เพิ่มความมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ในการร่วมปรึกษาหารือในการประชุมที่มหานครลอนดอน ระหว่างช่วงทศวรรษที่ 30 ลักษณะการกระตุกเป็นช่วงๆ (Staccato Action) ได้ถูกนำเข้าใช้ร่วมในองค์ประกอบท่าเต้นของจังหวะแทงโก้

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ แทงโก้
เอกลักษณ์เฉพาะ มั่นคง และน่าเกรงขาม โล่งอิสระ

การเคลื่อนไหว ไม่มีการสวิง และเลื่อนไหล การกระแทกกระทั้นเป็นช่วงๆ (Staccato Action)
เฉียบขาด อาการเปลี่ยนแปลงที่สับเปลี่ยนอย่างฉับพลันสู่ความสงบนิ่ง

ห้องดนตรี 2/4
ความเร็วต่อนาที 33 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บีทที่ 1 และ 3
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
การขึ้นและลง ไม่มีการขึ้นและลง
หลักพลศาสตร์
ความสมดุลย์ที่ดีร่วมกับการใช้น้ำหนัก จังหวะเวลา และการขับเคลื่อนอย่างโล่งอิสระ
การสื่อความหมายของจังหวะ แทงโก้
ลองพิจารณาซิว่า การเต้นแทงโก้ของคุณต้องไม่ดูเหมือนหุ่นยนต์ แต่ท่าทางการเคลื่อนไหวต้องแผ่รังษีคล้ายสัตว์ ดั่งแมว หรือ เสือ นอกเหนือจากนั้น ความสำนึกในหลายๆ รูปแบบของการเต้น ต้องใส่ความรู้สึกที่หยิ่ง ยะโส ตามแบบฉบับของชาวสเปน มันไม่มีการขึ้นและลง ไม่มีการสเวย์ของลำตัว ต้นขา และเข่าเบี่ยงชิดซึ่งกันและกันเล็กน้อย (ให้นึกถึงความรู้สึกที่เพรียว ชะลูด) ด้านขอบในของเท้าให้เก็บเข้าหากันเล็กน้อยตลอดเวลา ฝ่ายหญิงให้ยืนเบี่ยงไปทางขวาของชายมากกว่าที่เคย และสร้างกริยา ท่าทางที่เย่อหยิ่ง และเชื่อมั่น คู่เต้นรำต้องแผ่รังษี ในการดูดซับความรู้สึกของลำตัวซึ่งกันและกันไว้ สำหรับการเพิ่มแรงโน้มถ่วงที่ลงพื้น มีไว้ในสถานการณ์ที่ต้องการสับเปลี่ยน ให้เป็นความฉับพลันที่สงบนิ่ง
การใช้เท้าสนับสนุน (Supporting Foot) มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเหมือนกับทุกๆ จังหวะ การเคลื่อนลำตัวให้ผ่านเท้า และลีลาท่าทางการก้าวย่างของโครงสร้างท่าเต้น จะเพิ่มศักยภาพให้กับแทงโก้ของคุณ ในด้านการแสดงออก รากเหง้าของจังหวะ แทงโก้ คือ การเต้นรำที่เหมือน "ศิลปการการละคร และการให้อารมณ์ " (Drama and Mood)
การให้จังหวะที่ถูกต้องในรูปแบบท่าเต้น แสดงให้เห็นถึงความเฉียบคม และความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง การต่อต้านหรือการต่อสู้ขัดขืน พัฒนาไปสู่คุณภาพของความเฉียบพลัน ในการเคลื่อนไหวของจังหวะ แทงโก้



VIENNESE WALTZ
รูปแบบของจังหวะ เวียนนีสวอลซ์
จังหวะเวียนนิสวอลซ์ เป็นจังหวะเต้นรำที่ได้แสดงถึงการมีพลังความอดทน การเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ และการสวิงไปด้านข้าง จังหวะนี้มีรูปแบบการเต้น (Figures) ที่น้อยมาก ความเร็วของดนตรี นับได้ถึง 60 บาร์ /นาที ซึ่งได้บ่งบอกถึงตัวของมันเอง การเต้นจังหวะเวียนนิสวอลซ์นี้ เปรียบเทียบได้กับการแข่งขันวิ่ง ในระยะทาง 400 เมตร ของนักกีฬา
บ่อยๆ ครั้ง ที่คุณจะเห็นจุดผิดพลาดนี้ เกิดขึ้นบนฟลอร์ของการแข่งขัน ซึ่งจะเหมือนกับการแข่งขันวิ่งในระยะทาง 400 เมตร ผู้เข้าแข่งขันจะเริ่มเต้นจังหวะนี้อย่างเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่แล้วก็ไม่สามารถรักษาคุณภาพให้อยู่ในระดับเดิมได้ และเริ่มที่จะทำเทคนิคของการเต้นผิดพลาด เนื่องจากพละกำลังถดถอย และหลังจากนี้แล้ว การเต้นในจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอตก็จะมาถึง
ควรระมัดระวังที่จะแสดงให้เห็นถึง การเต้นที่โล่งอิสระ และรักษาระดับความเร็วของการเคลื่อนไหว ที่เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เมื่อนั้นแล้ว คู่ที่กำลังเต้นอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของคุณ จะถูกนำมาเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นการง่ายมาก ต่อการตัดสินของคณะกรรมการ
เป็นการยากมากที่จะได้พบเห็น การเต้นเข้ากับช่วงจังหวะดนตรี (Musical Phrasing) ในระดับนักเต้นสมัครเล่น และข้าพเจ้าคิดว่า มันไม่ยากนักที่จะเพิ่มเข้าไปในการเต้นเวียนนิสวอลซ์ของคุณ ลองดูซิ !

ประวัติของจังหวะ เวียนนีสวอลซ์
โดยดั้งเดิม เวียนนิสวอลซ์มีความเป็นมาจาก ทางตอนใต้ของประเทศเยอรมัน แถบเทือกเขาเอลป์ ช่วงศตวรรษที่ 18 การเต้น Weller , Waltz และ Lander ได้ถูกค้นพบ และจังหวะสุดท้าย Lander นี่เอง ที่เป็นต้นแบบดั้งเดิมของเวียนนิสวอลซ์ ระหว่างปี ค.ศ. 1800 และ ค.ศ. 1820 การก้าวเท้าและรูปแบบท่าเต้นต่างๆ ของจังหวะ Lander ได้ถูกลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากความเร็วของดนตรี และจากนั้น การเต้น 6 ก้าวของเวียนนิสวอลซ์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
ช่วงยุค ซิคตี้ (Sixties) ประเทศเยอรมัน และอังกฤษ ได้มีการถกเถียงกันมาก เกี่ยวกับเรื่องจำนวนของรูปแบบท่าเต้น ว่าจะอนุญาตให้บรรจุเข้าในการแข่งขัน ในปี ค.ศ. 1883 I.C.B.D. (International Council of Ballroom Dancing) ได้สรุปตกลงใจในขั้นสุดท้าย ดังนี้ Natural and Reverse Turn , Natural and Reverse Fleckers , The Contra Check เปลี่ยนจาก Reverse Fleckers ไปยัง Natural Fleckers เต้นอยู่บนเวลาหนึ่งบาร์ของดนตรี
ในความเห็นของข้าพเจ้า ควรที่จะเพิ่มเติม ฟิกเกอร์ (Figures) เข้าไปในเวียนนิสวอลซ์มากยิ่งขึ้น เพื่อกระตุ้นให้มีการพัฒนาในรูปแบบทิศทางที่แน่นอนขึ้น อย่างเช่น Throwaway Overaway , Natural Hinge Line on Right Side , Natural Off-Beat Spins

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ เวียนนีสวอลซ์
การหมุนไปโดยรอบ การสวิงที่โล่งอิสระ เคลื่อนไปข้างหน้า
เอกลักษณ์เฉพาะ
การเคลื่อนไหว
ห้องดนตรี 3/4
ความเร็วต่อนาที 60 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 1
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาที - 2 นาที
การขึ้นและลง ไม่มีการเขย่งขึ้นในการหันวงใน
หลักพลศาสตร์
เลื่อนไหล และเคลื่อนไปอย่างอิสระ (โล่ง)
การสื่อความหมายของจังหวะ เวียนนีสวอลซ์
จังหวะเวียนนิสวอลซ์ เป็นการเต้นรำที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ในลักษณะโคจรไปโดยรอบ (Rotating Dance) ที่ร่วมกับการเน้น บนบีทที่ 1 ของดนตรี ลองคิดถึงว่า ขณะที่กำลังวอลซิ่ง (Waltzing) เคลื่อนไปรอบๆ ฟลอร์แข่งขัน คนใดคนหนึ่ง คุณหรือคู่เต้นจะมีโอกาสอยู่ในวงใน (Inner Turn) หนึ่งครึ่ง การเลื่อนไหลและการเคลื่อนไปข้างหน้า ขณะอยู่วงใน ตัดสินใจได้จากการเลื่อนไหล และเคลื่อนไปข้างหน้าจากการหันที่อยู่วงนอก (Outside Turn) บ่อยครั้งที่ฝ่ายชายเคลื่อนไปข้างหน้ามากไปในขณะที่อยู่วงใน ซึ่งทำให้ฝ่ายหญิงเสียการทรงตัว ขณะเต้นอยู่วงนอก
การทำสเวย์ ก้าวแรกของ Natural Turn มากไป อาจขัดขวางการเคลื่อนไหวของการเลื่อนไหล ที่เป็นธรรมชาติของลำตัว ในจังหวะเวียนนิสวอลซ์ สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ ก้าวแรกนี้จะไม่มีการสเวย์! คุณอาจจะเหลือสเวย์ที่มีอยู่ก่อนแล้วเล็กน้อย ตอนที่กำลังเริ่มออกเท้าก้าวที่ 1 และก้าวที่ 4 การรวบชิดของเท้าต้องไม่ให้สังเกตเห็นได้ชัดจากอาการในช่วงบน (Top Line) และช่วงศีรษะ (Head Line)



SLOW FOXTROT
รูปแบบของจังหวะ สโลว์ ฟอกซ์ทรอท
สโลว์ฟอกซ์ทรอท จะถูกมองอยู่บ่อยๆ ว่า เป็นการเต้นรำที่จัดอยู่ในฐานะหัวใจหลัก (Corner Stone) ของการเต้นรำแบบบอลรูม บางท่านถึงกับกล่าวว่า หากคุณสามารถเต้นจังหวะนี้ได้ดีแล้ว คุณก็จะมีพื้นฐานที่เติบโตขึ้นมาเองโดยปริยาย ซึ่งทำให้เต้นรำจังหวะอื่นๆ ได้ดีด้วยเช่นกัน โดยการปรับระดับการขึ้น และลงให้แน่ชัด และการได้มาของกลุ่มท่าเต้น (Chorography) ที่เหมาะสม นักเต้นจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอทที่ดี ปกติแล้วจะสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับจังหวะดนตรีได้เกือบทั้งหมด ไม่เหมือนจังหวะอื่นๆ
จังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอทนี้ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ตั้งแต่มีการเริ่มพัฒนา โครงสร้างของจังหวะนี้ประกอบด้วย ท่าก้าวย่างพื้นฐาน และรูปแบบของท่าเต้นที่มีจำกัด หลายๆ ครั้งในการแข่งขัน ความหลากหลายอย่างมากมายที่มีให้กับการเต้น ซึ่งในความเห็นของข้าพเจ้าแล้ว มันได้ทำลายความเป็นเอกลักษณ์ที่แท้จริงของจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอท ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานอยู่กับ สไตส์ ความเก๋เท่ห์ ความสมดุลย์ที่สง่างาม การเคลื่อนไหวและจังหวะเวลา คุณจะไม่ชนะการเต้นจังหวะนี้ด้วยรูปแบบท่าเต้นที่น่าตื่นเต้น (Exiting Choreography) แต่คุณจะชนะด้วยการแสดงถึงการเคลื่อนไหวที่มีคุณภาพสูง ผ่านเหนือฟลอร์ของการแข่งขัน
คำกล่าวที่ข้าพเจ้าจะขอร่วมด้วยในจังหวะ สโลว์ฟอกซ์ทรอท คือ การมีคุณภาพ ความชำนาญทางเทคนิค ความกลมกลืนที่ใสสะอาด……. นึกถึงมันสิ !

ประวัติของจังหวะ สโลว์ ฟอกซ์ทรอท
จังหวะ สโลว์ฟอกซ์ทรอท ได้ถูกแนะนำเข้ามาในทวีปยุโรป พึ่งก่อนจะสงครามโลกครั้งที่ 1 จากรากฐานของมัน ฟอกซ์ทรอท เป็นการเต้นรำที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก ด้วยการเคลื่อนไหวที่มีทั้งช้า และเร็ว พูดกันว่า ชื่อนี้ตั้งขึ้นมาจากนักเต้นรำประกอบดนตรีคนหนึ่ง (Musical Dancer) ชื่อฮารีฟอกซ์ (Harry Fox) เหล่าครูสอนเต้นรำชาวยุโรป ไม่ค่อยมีความกระตือรือร้นนัก ต่อลักษณะการเต้นอย่างไม่มีรูปแบบของจังหวะฟอกซ์ทรอท และเริ่มต้นขัดเกลาเพิ่มขึ้นระหว่าง ปี ค.ศ. 1922 และ 1929 แฟรงค์ฟอร์ด (Frank Ford) ผู้ซึ่งเคยร่วมสาธิตกับ โจเซฟฟิน เบรดลีย์ (Josephine Bradley) ได้พัฒนาการเคลื่อนไหวพื้นฐานของจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอทขึ้น แง่คิดนี้ทำให้เขาได้รับชัยชนะในงาน "สตาร์แชมเปี้ยนชิฟ" (Star Championships) ร่วมกับคู่เต้น ชื่อ มอลลี่ย์ สเปน (Molly Spain) ท่าเต้นที่ทั้งสองใช้เต้นในครั้งนั้น นักแข่งขันยังคงใช้อยู่ถึงปัจจุบัน
ช่วงเวลานั้น ทำนองดนตรีที่ถูกต้องยังไม่ได้คิดทำขึ้น จังหวะฟอกซ์ทรอท คิดจะเล่นอย่างไรก็ได้ ซึ่งมีตั้งแต่ จาก 40 ถึง 50 บาร์ต่อนาที และเป็นการง่ายที่จะใช้สไตส์อย่างไรก็ได้ สุดแท้แต่ความเร็วของดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไป ตามแต่ว่าใครจะเป็นผู้ควบคุมวงดนตรี แต่ครั้งนั้นครั้งเดียววงดนตรี วิคเทอซิลเวสเทอ (Victor Silvestor's Band) เริ่มทำการบันทึก และปัญหาก็ได้ถูกแก้ไข

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ สโลว์ ฟอกซ์ทรอท
เอกลักษณ์เฉพาะ ความบริสุทธิ์ชัดเจน และสง่างามยิ่งอย่างมีบุคลิก
การเคลื่อนไหว ความต่อเนื่อง เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างโล่งอิสระ รูปแบบที่มีแนวตรงอย่างเป็นระเบียบ
ห้องดนตรี 4/4
ความเร็วต่อนาที 30 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 2
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
การขึ้นและลงขึ้นหลังสิ้นสุด 1 ขึ้นตอน 2 ขึ้นและหน่วงลงหลังสิ้นสุด 3
หลักพลศาสตร์

การเลื่อนไหล และการเคลื่อนอย่างโล่งอิสระ
การสื่อความหมายของจังหวะ สโลว์ ฟอกซ์ทรอท
จังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอท เป็นจังหวะหนึ่งที่มากไปด้วยรูปแบบของการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และถอยหลังอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงและเป็นแนวอย่างเป็นระเบียบบนฟลอร์การแข่งขัน เกี่ยวเนื่องจากเอกลักษณ์ของความต่อเนื่อง และการเลื่อนไหลของจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอท มันเป็นการยากที่จะก่อให้เกิดการขึ้นและการลงที่กลมกลืน ซึ่งผลลัพธ์นี้ คุณควรจะมีการตัดสินใจที่แน่วแน่ในการใช้พลัง ที่มีท่าทีของการโอนอ่อนผ่อนตาม ซึ่งการนี้ การใช้เท้าและการเปลี่ยนน้ำหนัก จะไม่ทำให้เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ขณะที่กำลังหน่วงลง (Lowering) กฎก็คือว่า เข่าจะยันรับน้ำหนักของลำตัว โดยการยืดหยุ่นก่อนที่เท้าจะยันรับและหน่วงลง ซึ่งจะขาดเสียมิได้เลย
การก้าวเท้าควรสนับสนุน การสวิงของลำตัว (ลำตัวต้องก่อน) โดยการดันส่งจากขาข้างที่รับน้ำหนัก และการดึง (Pulling) ขณะที่ขาข้างที่กำลังก้าวได้มาถึง ผู้ฝึกสอนบางท่านอธิบายว่า คุณควรจะใช้เท้าให้เปรียบเสมือนดั่ง "วงล้อ" ขอเห็นด้วยต่อคำกล่าวนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่ข้าพเจ้าชอบที่จะอธิบายว่า อาการ หรือ การทำงานของ "วงล้อ" จะเหมาะสมกว่า
ผู้ที่เป็นแชมเปี้ยน สามารถที่จะลดลักษณะการดัน (Pushing) และการดึง (Pulling) ของการก้าวเท้าของกันและกันอย่างแยบยล ผลจากการแสดงนี้ ….. คือการเคลื่อนไหวของจังหวะ สโลว์ฟอกซ์ทรอท อันสวยสดงดงาม



QUICKSTEP
รูปแบบของจังหวะ ควิ๊กสเต็ป
ถึงเวลาของการปลดเบรค มันคือ ช่วงเวลาของจังหวะควิ๊กสเต็ป สำหรับข้าพเจ้า บรรดาการเต้นรำแบบมาตรฐานทั้งห้าจังหวะ ควิ๊กสเต็ป เป็นจังหวะที่ให้ความสนุกสนานไม่มีขีดจำกัดในความเร็ว การเคลื่อนไหว การโคจรและท้ายสุด แต่ไม่ใช่น้อยที่สุด เพื่อสร้างความสนุกสนานบนฟลอร์การแข่งขัน "คลิ๊กสเต็ป" สำหรับข้าพเจ้าเปรียบเสมือนเป็นขวดแชมเปญอย่างดี ที่ซึ่งเปิดขึ้นในเวลาเดียวกับที่ดนตรีเริ่มบรรเลง และมันก็เป็นจังหวะหนึ่งด้วย ที่ได้ละทิ้งหลักการใช้เท้าเฉียดพื้นผิวฟลอร์ออกจากจังหวะอื่น ตอนนี้บางครั้งการเคลื่อนฝ่าอากาศธาตุอย่างเต็มพิกัด ที่อนุญาตให้ทำได้ในการเต้นควิ๊กสเต็ปยุคใหม่ การทำให้ประสบความสำเร็จเช่นนี้ ต้องได้รับการฝึกฝนร่วมกันเป็นอย่างดี ระหว่างคนสองคน ให้มีจังหวะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
เนื่องมาจากระดับความเร็ว ลำตัวของคุณมีความต้องการ การควบคุม (Toning) เท้าและข้อเท้ามีความต้องการความเร็วที่ถูกต้อง เพื่อสามารถเต้นให้เกิดความเฉียบคม ในความตรงกันข้ามระหว่าง ความเร็วและช้า เข่าและขาในบางครั้ง ขณะก่อนที่คุณจะลดลงพื้น ต้องเพิ่มการยึดรับน้ำหนักทั้งหมดของลำตัวไว้

ประวัติของจังหวะ ควิ๊กสเต็ป
จังหวะควิ๊กสเต็ป ได้แตกแขนงมาจากจังหวะฟอกซ์ทรอท ช่วงทศวรรษที่ 20 วงดนตรีส่วนมากจะเล่นจังหวะฟอกซ์ทรอท เร็วถึง 50 บาร์ต่อนาที ซึ่งเป็นความเร็วที่เร็วเกินไป การก้าวเท้าที่เปิดกว้างของจังหวะสโลว์ฟอกซ์ทรอท ไม่สามารถจะทำการเต้นบนความเร็วขนาดนี้ได้ ชาวอังกฤษได้พัฒนาจากการเต้น ชาร์ลสทั่น (Charleston) ต้นแบบซึ่งเป็นจังหวะหนึ่งของการเต้นที่ต่อเนื่อง โดยไม่มีการเตะเท้า และได้ทำการผสมผสานกับจังหวะฟอกส์ทรอท (เร็ว) ที่ได้กล่าวมาแล้ว เรียกจังหวะนี้กันว่า จังหวะคลิ๊กไทม์ ฟอกซ์ทรอท และชาร์ลสทั่น (Quicktime Foxtrot and Charleston) คู่เต้นรำชาวอังกฤษ แฟรงค์ฟอร์ด และมอลลี่ สเปญ (Frankford and Molly Spain) ได้เต้น รูปแบบใหม่ของจังหวะ Quicktime Foxtrot and Charleston ในงานเดอะสตาร์แชมเปี้ยนชิพ ของปี ค.ศ. 1927 โดยปราศจากลักษณะท่าทางของการใช้เข่าแบบ Charleston และทำการเต้นเป็นคู่แทนการเต้นแบบเดี่ยว
รูปแบบท่าเต้นคือ Quarter Turns , Cross Chasses , Zigzags , Cortes , Open Reverse Turns และ Flat Charleston ในปี ค.ศ. 1928/1929 จังหวะควิ๊กสเต็ป ได้แจ้งเกิดอย่างแน่ชัด ในรูปแบบของ การก้าวแบบชาสซี่ส์ (Chasses Steps)

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ ควิ๊กสเต็ป
เอกลักษณ์เฉพาะ กระฉับกระเฉง ตื่นตัวและชั่วพริบตา ความเพลิดเพลิน
การเคลื่อนไหว อย่างรวดเร็ว ลูกเล่นของเท้า ร่วมโบยบิน และเคลื่อนเลียดพื้นอย่างโล่งอิสระ

ห้องดนตรี 4/4
ความเร็วต่อนาที 50 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 1 และ 3
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
การขึ้นและลง เริ่มขึ้นหลังสิ้นสุด 1 "ขึ้น" ต่อเนื่องจาก 2 และ 3 ขึ้น/ลดลง หลังสิ้นสุด 4
หลักพลศาสตร์
เลื่อนไหล โบยบิน และการเคลื่อนที่ยึดติดพื้น
การสื่อความหมายของจังหวะ ควิ๊กสเต็ป
ร่างสองร่างกำลังเคลื่อนที่ในความเร็ว ตามความต้องการของจังหวะควิ๊กสเต็ป เหนือสิ่งอื่นใด การทำให้เป็นจังหวะเดียวกัน รวมไปถึงความเข้าใจเกี่ยวกับการเกร็งยึดเกร็งของขา และวิธีการใช้ข้อเท้า ระหว่างปฏิบัติการของลูกเล่นของเท้า (Tricksteps) ทั้งคู่ต้องการการปรับระดับ (Toning) ของขาและเท้า เปรียบเทียบได้กับจังหวะไจว์ฟ (Jive) ในการเต้นแบบลาติน อเมริกัน
สื่อความหมายดนตรีที่ถูกต้อง จังหวะเวลาของการช้า (Slows) ควรยืดออกเล็กน้อย เพื่อสร้างพลังของอาการคมชัดในข้อเท้า ใน "การเร็ว" (Quicks) ประสบการณ์ของการใช้ฟลอร์ (Floorcraft) ในจังหวะนี้มีความสำคัญมากกว่าการเต้นรำแบบอื่นๆ



SAMBA
รูปแบบของจังหวะ แซมบ้า
ความมีชีวิตชีวาและท่วงทำนองที่มีจังหวะจะโคนของแซมบ้า โดยปกติแล้วจะนำมาซึ่งความตื่นเต้น เร้าใจบนฟลอร์ของการแข่งขัน การออกแบบท่าเต้น การมีดุลยภาพร่วมกับการทรงตัวที่หยุดนิ่ง และรูปแบบของการเต้นซิกแซค ที่เคลื่อนไหวไปข้างหน้า โดยทั่วไปแล้วแซมบ้าเป็นการเต้นรำที่เคลื่อนที่ไปข้างหน้า ลักษณะการเคลื่อนไหวควรที่จะสะท้อนถึงลักษณะการเดินพาเหรด เป็นวงกลมในที่ว่าง บางครั้งจะแสดงลีลาอวดผู้ชม โดยการเต้นพักอยู่กับที่
การเต้นแซมบ้าแบบแข่งขันในปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบดั้งเดิมของ "บราซิลเลี่ยนแซมบ้า" ไปเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดีตนั้น เน้นการกระตุ้นให้ผู้คนเกิดความรู้สึกที่ลุ่มหลง คลั่งไคล้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแซมบ้าจะเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบดั้งเดิมไป โดยละทิ้งลักษณะการเต้นแบบพาเหรด และความมีชีวิตชีวาลงไปบ้าง ก็มิได้ทำให้เสียภาพลักษณ์ของแซมบ้าแต่อย่างไร
สิ่งที่เราต้องการจะเห็นจากคู่แข่งขันก็คือ การใช้ความยืดหยุ่นของร่างกายเป็นอย่างมาก ท่อนแขน จะมีบทบาทสำคัญรองลงมา โดยใช้เพื่อทำให้เกิดความสมดุลย์ในการใช้ร่างกายเต้นเข้ากับจังหวะ นักเต้นแซมบ้าที่ดี ควรตระหนักถึงการใช้น้ำหนัก และจะต้องไม่เพิ่มเติมความหนักหน่วงลงไปในน้ำหนักของการเคลื่อนไหวที่เป็นจริง
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักแข่งขันก็คือ ต้องให้ความสำคัญโดยมุ่งประเด็นไปที่ ลักษณะการผ่อนคลายและการใช้น้ำหนัก , การเน้นเพื่อเพิ่มทัศนะการต่อสู้บนฟลอร์การแข่งขัน เพื่อเชือดเฉือนให้ออกมาเป็นแซมบ้า ที่เปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา

ประวัติของจังหวะ แซมบ้า
ต้นแบบของแซมบ้า มาจากอัฟริกา แต่ได้รับการพัฒนามากที่สุดที่ประเทศบราซิล ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในงานเทศกาลรื่นเริง และตามโรงเรียนสอนจังหวะแซมบ้าในประเทศบราซิล ปี ค.ศ. 1925 จังหวะแซมบ้า เริ่มแพร่หลายเข้าสู่ทวีปยุโรป ถึงแม้ว่า แซมบ้า จะได้รับการยอมรับเป็นจังหวะหนึ่งที่ใช้ในการแข่งขันก็ตาม แต่การบุกเบิกครั้งสำคัญของจังหวะแซมบ้า ได้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1939 ในงานมหกรรมการแสดงระดับโลกในนครนิวยอร์ค จังหวะแซมบ้าได้ถูกยอมรับอย่างแท้จริงในปี ค.ศ. 1948/1949
ผู้ที่ได้พัฒนาจังหวะแซมบ้า มากที่สุดคือ Walter Laird และ Lorraine ซึ่งทั้งสองท่านเป็นอดีตแชมเปี้ยนโลก ของการเต้นรำแบบลาตินอเมริกัน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ แซมบ้า
เอกลักษณ์เฉพาะ เบิกบาน มีชีวิตชีวา และความพึงพอใจ
การเคลื่อนไหว แบบซิคแซค , เคลื่อนที่แบบเดินขบวน และแบบวงกลม เต้นในที่โล่ง หรืออยู่กับที่
ห้องดนตรี 2/4
ความเร็วต่อนาที 50 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีท (Beat) ที่ 2
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
การขึ้นและลง ท่าเบ้าส์ (Bounce) ของแซมบ้า
หลักพลศาสตร์
ความหนักหน่วง ยืดหยุ่น ฉับพลัน และก็ทันทีทันใด
การสื่อความหมายของจังหวะ แซมบ้า
แบบฉบับท่าทางการยืดหยุ่นของแซมบ้า (Bounce Action) ก่อให้เกิดความย่นย่อ และการเหยียดตึงของเข่า และข้อเท้า ของขาข้างที่รองรับน้ำหนักอยู่ ในแต่ละครั้งของการยืดขึ้นและหน่วงลง ใช้เวลาครึ่งบีทของดนตรี ระดับของการใช้ความยืดหยุ่นของฟิคเกอร์ (Figures) ต่างไม่เหมือนกันทั้งหมด บ้างก็มีเพียงเล็กน้อย บ้างก็ไม่มีเลย
การเคลื่อนไหวของแซมบ้า ควรสะท้อนให้เห็นถึงขบวนพาเหรด ที่เคลื่อนเป็นวงกลมในที่โล่ง โดยการแสดงอวดผู้ชมบ้างในบางครั้ง ด้วยการเต้นพักอยู่กับที่ในจุดเดิม



CHA CHA CHA
รูปแบบของจังหวะ ช่า ช่า ช่า
หลังจากที่การแข่งขันในจังหวะแซมบ้าสิ้นสุดลง จะเห็นว่าคู่แข่งขันต่างพากันเลือกตำแหน่งบนฟลอร์ เพื่อเต้นรำจังหวะ ช่า ช่า ช่า ซึ่งเป็นจังหวะที่สองของการแข่งขัน ชี้ให้เห็นว่าองค์ประกอบการจัดท่าเต้นของจังหวะนี้ ไม่มุ่งเน้นให้มีการเต้นแบบเดินไปข้างหน้า ฉะนั้น นักแข่งขันจึงมีโอกาสที่จะเลือกที่ว่างตามความถนัดบนฟลอร์ของการแข่งขัน
นักแข่งขันเหล่านั้น เสาะแสวงหาจุดสัมผัสเพื่อที่จะแสดงอวดผู้ชม พวกเขารู้ว่า การได้รับการตอบรับจากผู้ชม จะปลุกเร้าให้เกิดอารมณ์ในการแสดงที่ดียิ่งขึ้น ลองไตร่ตรองดูซิว่า จังหวะ ช่า ช่า ช่า เป็นจังหวะที่กระจุ๋มกระจิ๋มและเบิกบาน การได้รับการกระตุ้นอย่างเป็นธรรมชาติ จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นเชิงบวกแก่บรรดานักเต้นทั้งหลาย
ในท่าเต้นที่ได้รับการจัดรูปแบบแล้ว บรรดานักเต้นจะเน้นการใช้ขาและเท้า ร่วมกันกับกริยาท่าทางของการใช้ลำตัว ซึ่งความสำคัญนี้ จะมีมากกว่าจังหวะก่อนหน้านี้ คือจังหวะแซมบ้า

ประวัติของจังหวะ ช่า ช่า ช่า
จังหวะ ช่า ช่า ช่า ได้รับการพัฒนามาจากจังหวะ แมมโบ้ (Mambo) และเป็นจังหวะลาตินที่คนส่วนมากชอบที่จะเรียนรู้เป็นอันดับแรก ชื่อของจังหวะนี้ ตั้งขึ้นโดยการเลียนเสียงของรองเท้า ขณะที่กำลังเต้นรำ ของสตรีชาวคิวบา จังหวะ ช่า ช่า ช่า ได้ถูกพบเห็นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอเมริกา และระบาดเข้าไปในยุโรป เกือบจะเป็นเวลาเดียวกันกับจังหวะแมมโบ้ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวะแมมโบ้ได้เสื่อมความนิยมลงไป โดยหันมานิยมจังหวะ ช่า ช่า ช่า ซึ่งกลายมาเป็นความนิยมอย่างจริงจังในปี ค.ศ. 1956
หากสอดคล้องกับต้นแบบแล้ว ดนตรีของจังหวะ ช่า ช่า ช่า ควรเล่นด้วยอารมณ์ความรู้สึก โดยปราศจากความตึงเครียดใดๆ ร่วมด้วยลักษณะการกระแทกกระทั้นของจังหวะ ที่ทำให้นักเต้นรำสามารถที่จะสร้างบรรยากาศของความรู้สึกที่ขี้เล่น และซุกซน ให้กับผู้ชมได้
เมื่อไม่นานมานี้ เป็นที่ตกลงกันไว้ว่า ให้ตัดทอนชื่อให้สั้นลง เป็น ช่า ช่า แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นว่า มีเหตุผลอะไรที่จะต้องทำอย่างนั้น

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ ช่า ช่า ช่า
เอกลักษณ์เฉพาะ กระจุ๋มกระจิ๋ม เบิกบาน การแสดงความรักใคร่
การเคลื่อนไหว อยู่คงที่ คู่เต้นรำเคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงข้าม และร่วมทิศทางเดียวกัน
ห้องดนตรี 4/4
ความเร็วต่อนาที 30 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 1
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
หลักพลศาสตร์
การเคลื่อนที่ตามเวลา ทันทีทันใด หนักหน่วงโดยตรง และการเคลื่อนไหวที่อิสระ
การสื่อความหมายของจังหวะ ช่า ช่า ช่า
จุดสำคัญของจังหวะนี้อยู่ที่ ขาและเท้า โครงสร้างของการจัดท่าเต้น ไม่ควรให้มีการเคลื่อนที่มากนัก และต้องมีความสมดุลย์ที่ผู้ชมสามารถจะเข้าใจในรูปแบบ และติดตามทิศทางการเต้นได้ การให้ความใส่ใจอย่างยิ่ง ควรมุ่งไปที่ จังหวะเวลา ของแต่ละท่าทางของการเคลื่อนไหว


RUMBA
รูปแบบของจังหวะ รุมบ้า
ถึงเวลาของรุมบ้า ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่เพิ่มเติมความตึงเครียดระหว่างคู่แข่งขัน ทั้งชายและหญิง มันมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่รูปแบบของการออกแบบท่าเต้น ต้องเน้นให้ฝ่ายหญิงสามารถที่จะใช้สะโพก ผ่านการเคลื่อนไหวได้ การแสดงออกของฝ่ายหญิง ต้องแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อการให้ความรู้สึก ซึ่งผลของการเคลื่อนไหวของสะโพกเกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายชาย การเคลื่อนไหวสะโพกของฝ่ายชาย แสดงออกถึงการให้ความรู้สึกยั่วยวน ซึ่งเป็นไปอย่างระมัดระวัง แต่นี่ไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญนักสำหรับฝ่ายชาย การใช้ทุกสัดส่วนของร่างกายเพื่อที่จะสร้างอิทธิพลทางกายภาพ ให้ฝ่ายหญิงเกิดความประทับใจ และเขาจะยืนอย่างแน่วแน่โดยมุ่งตรงไปที่หล่อน ฝ่ายชายควรที่จะสร้างความรู้สึกให้เห็นว่า มีความต้องการหล่อน
นักแข่งขันไม่ควรเต้นเคลื่อนไปรอบๆ ฟลอร์ เขาควรที่จะทำการเต้นอยู่ในส่วนพื้นที่ว่างของตัวเอง ในลักษณะที่อยู่คู่กัน การย่างก้าวไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาให้เคลื่อนไปข้างหน้า แต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายน้ำหนัก ร่วมกันกับการบิดเอี้ยวลำตัวเล็กน้อย ในลักษณะยั่วยวน และการใช้สะโพกที่เป็นธรรมชาติ ในขอบเขตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวะรุมบ้า อย่างแท้จริง
ข้าพเจ้า ไม่ชอบที่จะเห็นการออกแบบท่าเต้นที่โลดโผน ในลักษณะกายกรรม และด้วยการแสดงออกของหน้าตาที่ไม่เป็นธรรมชาติ โดยเกี่ยวเนื่องมาจากองค์ประกอบของท่าเต้น ซึ่งไม่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมเสียเลย
ข้าพเจ้า อยากที่จะแนะให้คู่เต้นเหล่านั้น ย้อนกลับไปหาองค์ประกอบพื้นฐานของธรรมชาติ คือ การยั่วเย้า หยอกล้อ และการผละหนีอย่างมีจริต ของหญิง - ชาย

ประวัติของจังหวะ รุมบ้า
ประมาณกันว่า รุมบ้าถูกนำเข้ามาในอเมริกาโดยทาสชาวอัฟริกัน แต่เมื่อราว ค.ศ. 1928/ 1929 การก้าวเท้าและรูปแบบการเต้นของจังหวะนี้ ยังไม่ชัดเจนทีเดียว คนส่วนมากทึกทักเอาการเต้นของจังหวะนี้ เป็นการเต้นรูปแบบใหม่ของจังหวะ ฟอกซ์ทรอท โดยเพิ่มการใช้สะโพกลงไป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รุมบ้า ได้รับการพัฒนาต่อให้เป็น คิวบันรุมบ้า
โดย Monsieur Pierre และ Doris Lavell นักเต้นชาวอังกฤษ ซึ่งมีโรงเรียนสอนเต้นรำอยู่ที่ถนน Regent ในนครลอนดอน แต่ก็ยังไม่ได้มาตรฐานเท่าที่ควร จนกระทั่ง Walter Lird เริ่มเขียนตำราเต้นรำของลาตินขึ้น ผลงานของเขาได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก จากหลายองค์กรของการเต้นรำ และนั่นเอง การจัดมาตรฐานก็บรรลุถึงความเป็นจริง

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ รุมบ้า
เอกลักษณ์เฉพาะ ยั่วยวน กระตุ้นความรู้สึก ดูดดื่ม ยั่วเย้า และการผละหนีอย่างมีจริต
การเคลื่อนไหว คงที่ โล่งอิสระ การเลื่อนไหล การต่อเนื่องร่วมกับการเน้นจังหวะ
ห้องดนตรี 4/4
ความเร็วต่อนาที 27 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 4 ของแต่ละบาร์
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
หลักพลศาสตร์
ความหนักหน่วง เคลื่อนตามจังหวะ การเดินที่แข็งแรง และตรงทิศทาง
การสื่อความหมายของจังหวะ รุมบ้า
ในจังหวะนี้ ความสำคัญอยู่ที่ลำตัว การเคลื่อนไหวของสะโพก เกิดขึ้นจากการควบคุมการโอนถ่ายน้ำหนัก จากเท้าหนึ่งไปยังอีกเท้าหนึ่ง การก้าวเท้าแต่ละก้าวใช้เวลา 1/2 บีทของดนตรี ท่าทางของลำตัวเกิดขึ้นบนครึ่งที่สองของบีท ความใส่ใจควรมุ่งใช้ไปที่หลักพลศาสตร์ และจังหวะดนตรี เพื่อเพิ่มความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องกับความต้องการที่ตรงกันข้าม และความเย้ายวนอารมณ์ ลำตัวจะไม่มีการหยุดเพื่อการเปลี่ยนท่าทาง การเคลื่อนไหวของแขนจะเริ่มจากจุดศูนย์กลางของลำตัว และนี่คือ ผลจากการเคลื่อนไหวของลำตัว
ความสนใจควรมุ่งไปที่การแสดงความชัดเจนของการใช้เท้า เท้าจะสัมผัสพื้นผิวของฟลอร์อย่างต่อเนื่อง และแผ่วเบา ฝ่ายชายจำเป็นที่จะต้องใช้ความรู้สึกที่ให้อารมณ์ในการนำ ด้วยมือ แขน และด้วยจิตใจ
ข้อความที่ฝากไว้ตรงนี้ คือ …………. ปล่อยให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายแสดง



PASO DOBLE
รูปแบบของจังหวะ พาโซโดเบิล
จังหวะพาโซโดเบิล ที่อยู่บนฟลอร์การแข่งขัน ควรสร้างบรรยากาศของการสู้วัวกระทิง ตามแบบฉบับของชาวสเปน สำหรับข้าพเจ้าแล้วการเต้นรำจังหวะนี้ เป็นการเต้นรำสำหรับฝ่ายชาย ซึ่งให้โอกาสเขาได้ครอบครองพื้นที่ที่ว่าง ด้วยท่าทางที่เป็นสามมิติ และเคลื่อนไหวการเต้นด้วยความทรนงและสง่างาม "Pride and Dignity" นักเต้นรำชายส่วนมาก ให้ความสำคัญน้อยไปกับการควบคุม (Toning) ส่วนของลำตัว ที่จะทำให้การเต้นของจังหวะนี้มีท่าที่เฉียบคม และฉับพลัน ลักษณะของพาโซโดเบิล คือ การเดินมาร์ช (Marching) ส่วนลีลาท่าทางอยู่ที่การก้าวย่าง และการโบกสบัดของผืนผ้าที่ใช้สำหรับกีฬาสู้วัวกระทิง ที่เพิ่มความตรึงเครียดระหว่างคู่เต้นรำ อย่างไรก็ตามแต่ ฝ่ายหญิงเปรียบเสมือนเป็นผ้าแดง ……. หล่อนไม่ใช่เป็นวัวกระทิง !
ควรให้ความใส่ใจกับการแบ่งช่วง ห้องดนตรี (Musical Phrasing) และรูปแบบของการออกแบบท่าเต้น (Choreographic Patterns) ที่ไม่ได้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า โดยเพิ่มพลัง และความเข้มแข็งที่ต้องสังเกตุเห็นได้จากผู้ชม และกรรมการตัดสิน

ประวัติของจังหวะ พาโซโดเบิล
พาโซโดเบิล เป็นจังหวะการเต้นรำเพียงจังหวะเดียวในแบบลาตินอเมริกัน ที่ไม่ได้มีที่มาจากชนผิวดำ (Negro) ถิ่นกำเนิดที่แท้จริงอยู่ที่ประเทศสเปน ขีดความนิยมแพร่หลายสูงสุด เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1926 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จังหวะพาโซโดเบิลได้รับการยอมรับ ให้บรรจุเข้าเป็นจังหวะหนึ่งของการแข่งขัน

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ พาโซโดเบิล
เอกลักษณ์เฉพาะ สง่าและภาคภูมิ ความเป็นชาวสเปน อวดลีลาการเต้นแบบ ฟลามิงโก้
การเคลื่อนไหว ในที่โล่ง และเคลื่อนไปข้างหน้า การโบกสบัดผ้าคลุม การเคลื่อนไหวเป็นวงกลม และการเดินมาร์ช
ห้องดนตรี 2/4
ความเร็วต่อนาที 62 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ เน้นเล็กน้อย บนบีทที่ 1
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
การขึ้นและลง เขย่งขึ้นลงบ้างในบาง ฟิกเกอร์
หลักพลศาสตร์
การเดินแบบมาร์ชที่มั่นคงและตรงทิศทาง
การสื่อความหมายของจังหวะ พาโซโดเบิล
จุดสำคัญของจังหวะนี้ ควรอยู่ที่การเน้นลำตัวและท่าทางต่างๆ โดยการใช้ลีลาของแขน ข้อศอก ข้อมือ และนิ้วมือ ตามแบบการเต้น ฟลามิงโก้ (Flamenco) ที่ออกไปในทางสามมิติ ตามจริงการใช้เท้า ส้นเท้า ควรแสดงให้เห็นถึงการใช้จังหวะที่ถูกต้อง ลักษณะเฉพาะควรรวมไปถึงท่า Spanish Lines , Press Lines การเขย่งขึ้น (Elevation) การเต้นแบบ ชาสเซ่ ด้วยลีลาโบกผ้า (Chasse Capes) และการเคาะเท้าแบบ ฟลามิงโก้ (Flamenco Taps) การยกแขนขึ้นควรทำด้วย การควบคุม (Toning) อย่างดีเยี่ยม ด้วยทิศทางที่ย้อนกลับมาหาตัว



JIVE
รูปแบบของจังหวะ ไจว์ฟ
จังหวะสุดท้าย "ไจว์ฟ" ที่ซึ่งคู่เต้นรำควรแสดง การใช้จังหวะ (Rhythm) ซึ่งเป็นความต้องการของผู้ชม "จังหวะและก็จังหวะ" ผสมผสานกับความสนุกสนาน และการใช้พลังอย่างสูง การเน้นจังหวะล้วนอยู่ที่ขาทั้งคู่ ที่แสดงให้เห็นถึงการ เตะ และการดีดสบัดปลายเท้า
คู่เต้นรำต่างเอาใจใส่กับการเคลื่อนที่ไปรอบๆ เต้นเข้าและเต้นออกรอบจุดศูนย์กลางที่เคลื่อนไหวอยู่ การเต้นลักษณะนี้มือต้องจับ (Hold) กันไว้ ข้าพเจ้าต้องการที่จะเห็นสไตล์การเต้นแบบมาตรฐาน ที่ได้รับอิทธิพลโดยวัฒนธรรมชาวยุโรป อย่างเช่น Rock 'n' Roll มากกว่ารูปแบบการเต้นของไจว์ฟ ที่มีรากเหง้ามาจากอัฟริกา (สวิงค์ )
การออกแบบท่าเต้น ควรสมดุลย์ร่วมกับลีลาที่ผสมผสานกลมกลืนของการเต้น ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการแสดงเดี่ยว ที่ต้องทำให้เกิดผลสะท้อนกลับของผู้ชม การเต้นจังหวะนี้ หากมีปฏิกิริยาตอบรับจากผู้ชม จะมีผลทำให้คู่เต้นรำมีกำลังใจยิ่งขึ้น

ประวัติของจังหวะ ไจว์ฟ
ไจว์ฟ เป็นจังหวะเต้นรำที่มีจังหวะจะโคน และการสวิงค์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจาก Rock 'n' Roll , Bogie และ African / American Swing ต้นกำเนิดของ ไจว์ฟมาจาก New York , Halem ใน ค.ศ.1940 ไจว์ฟได้ถูกพัฒนาไปสู่จังหวะ จิตเตอร์บัคจ์ (Jitterbug) และจากนั้น Ms.Jos Bradly และ Mr.Alex Moore ชาวอังกฤษ ได้พัฒนาจังหวะดังกล่าว เข้าสู่การแข่งขันในระดับสากล

ลักษณะเฉพาะของจังหวะ ไจว์ฟ
เอกลักษณ์เฉพาะ การมีจังหวะจะโคน การออกท่าทาง เตะ และดีดสบัด
การเคลื่อนไหว ไม่คืบไปข้างหน้า มุ่งหน้าไปและมา จากจุดศูนย์กลางของการเคลื่อนไหว
ห้องดนตรี 4/4
ความเร็วต่อนาที 44 บาร์ต่อนาที ตามกฎ IDSF
การเน้นจังหวะ บนบีทที่ 2 และ 4
เวลาที่ใช้ในการแข่งขัน 1 นาทีครึ่ง ถึง 2 นาที
หลักพลศาสตร์
ฉับพลัน ตรง และการเคลื่อนไหวที่แผ่วเบา
การสื่อความหมายของจังหวะ ไจว์ฟ
สไตล์สากลของจังหวะนี้ ควรแสดงให้เห็นถึงการใช้เท้า เตะ และดีดสบัด ขณะที่แบบเก่าดั้งเดิม ใช้ส่วนของร่างกาย (Torso) และส่วนของสะโพกมากกว่า ปัจจุบันในการแข่งขันคุณจะเห็นการผสมผสานของการเต้นทั้งสองสไตล์ ก็สุดแล้วแต่คุณว่าจะชอบสไตล์ไหน และให้คอยติดตามผลที่ได้รับจากกรรมการตัดสิน เอาเอง …… ขอให้ประสบความสำเร็จ และ โชคดี


ที่มา: อ.สิทธิชัย ปรียาดารา รองเลขาธิการ และ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิค สมาคมกีฬาลีลาศแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ ข้อมูลต่างๆ อาจมีการเปลี่ยนแปลงหรือผิดพลาด

ซันนี่ บีนิค (Sunny Binick) นักลีลาศผู้ยิ่งใหญ่ บรมครูแห่งการลีลาศ

ซันนี่ บีนิค (Sunny Binick)
บทความโดย: อ.สมชาย ศุกรสมิต

ซันนี่ นักลีลาศผู้ยิ่งใหญ่ เป็นครูลีลาศที่มีความเป็นเลิศ และด้วยความเป็นผู้มีบุคลิกเด่น ชื่อเสียงของเขาจึงยังคงอยู่ในความทรงจำของทุกคนที่รู้จักเขา ชื่อจริงของเขาคือ นอร์แมน บินิค ( Norman binick ) เขาเริ่มอาชีพเต้นรำตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเริ่มจากการเป็นคู่เต้นที่เรียกว่า "เพ็น ด๊านเซอร์ " ( Pen Dancer ) หารายได้อยู่ที่สถานลีลาศ "แฮมเมอร์สมิธ พาเล่ส์ " ( Hammersmith Palais ) ในกรุงลอนดอน ( "เพ็น" นั้นคือ สถานที่บริเวณหนึ่ง ที่จัดไว้ให้สำหรับนักเต้นรำอาชีพ ทั้งชายและหญิงนั่งรอรับ "จ๊อบ" เป็นคู่เต้นอยู่ที่ "เพ็น" นี้ ใครไม่มีคู่เต้นก็มาเลือก "เพ็น ด๊านเซอร์ " ได้ที่นี่ )

กว่าจะเป็นนักเต้นรำที่ดีได้ ก็ต้องผ่านการฝึกอย่างหนัก นักเต้นรำอาชีพวัยรุ่นเหล่านี้ หลายคนที่ภายหลังต่อมาได้เป็นนักเต้นรำที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และหนึ่งในนั้นก็มี นอร์แมน บินิครวมอยู่ด้วย และเนื่องจากเขาเป็นคนรูปร่างเล็ก จึงได้นิคเนมว่า "ซันนี่ " นี้มาตลอดชีวิตของเขา

เมื่อสงครามโลกเกิดขึ้น เขาจึงต้องหยุดจากอาชีพเพ็น ด๊านเซอร์ และไปเป็นทหารพลร่ม ทหารหน่วยนี้ นับว่าเป็นหน่วยที่มีอันตรายมากที่สุดในบรรดาทหารทั้งหลาย เขาเป็นผู้หนึ่งในจำนวนพลร่ม 9,000 คน ที่โดดร่มในวันดีเดย์ เพื่อที่จะเข้ายึดสะพานที่แม่น้ำไรน์ แต่ก็ต้องประสบกับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝ่ายข้าศึก และถูกตรึงอยู่กับที่ไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นเวลาถึง 10 วัน ทหารฝ่ายเขาถูกข้าศึกฆ่าตายไปถึง 2,163 คน เมื่อสงครามสงบ เขาได้รับยศเป็นจ่านายสิบ และได้รับเหรียญกล้าหาญจากสงครามครั้งนั้น

ซันนี่ บินิค เป็นนักลีลาศที่โด่งดังมากในยุค 40 ปีก่อน เขาขึ้นสู่จุดสุดยอดของการแข่งขันลีลาศ ตั้งแต่ ค.ศ.1953 ติดต่อกันเรื่อยไปจนถึง 1959 ซึ่งตลอดระยะเวลา 7 ปีนี้ เขาและคู่เต้น คือ ซาลลี่ บร็อค ( Sally Brock ) ได้ครองตำแหน่ง "บริธิช แชมเปี้ยน" ประเภทโมเดอร์น ( British Professional Championship ) และ "อินเตอร์เนชั่นแนล" ( International Professional Championship ) นอกจากแชมเปี้ยนชิพตำแหน่งต่างๆ แล้ว เขายังชนะเลิศประเภท เอ็กซิบิชั่น ( Exhibition Contest ) ซึ่งเขาแข่งขันในชุด "That Old Black Magic"

ครูลีลาศหลายคนที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยได้กล่าวถึงเขาไว้ดังนี้

อเล็กซ์ มัวร์ ได้ชมเชยว่า ซันนี่ บินิค เป็นนักเต้นรำที่มีจังหวะจะโคนดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา
เล็น มอร์แกน (Leonard Morgan) ซึ่งเป็นครูคนแรกของข้าพเจ้า ขณะที่สอนอยู่ในโรงเรียนแถวเอีร์ลคอร์ด (Earlscourt) ในกรุงลอนดอน ได้พูดถึงเขาว่า ยังจำได้ติดตาอยู่เสมอถึงการเต้นวอลซ์ และฟ็อกซ์ทร็อต ซึ่งเป็นจังหวะที่ดีที่สุดของ ซันนี่ บินิค และยังชมซันนี่ว่า สามารถปรับตัวจากการเป็นแชมเปี้ยนในการแข่งขัน มาเป็นโค้ชผู้ฝึกสอนได้อย่างง่ายดาย และยังเล่าต่อไปว่า ซันนี่ได้รับเชิญให้ไปเผยแพร่มาตรฐานที่ถูกต้องตามสไตล์ของอังกฤษ ให้แก่นักลีลาศในประเทศต่างๆ อยู่เสมอ ในช่วงนี้เอง ที่เขาทุ่มเทด้วยใจรัก ในการพัฒนาและส่งเสริมฐานะภาพของนักแข่งขัน และนักแสดงโชว์ลีลาศ ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างดียิ่ง เขาได้ให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่แก่ BDF ( Ballroom Dances’ Federation ) ซึ่งเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์นักลีลาศนี้ขึ้นมา และเป็นประธานของสหพันธ์นี้อยู่หลายสมัย จนกระทั่งได้เป็น Life - President ของสหพันธ์นี้ สมาชิกของ BDF นี้ ส่วนมากเป็นนักแข่งขันและนักโชว์ลีลาศ รายได้แต่ละปีของพวกเขานั้น ขึ้นอยู่กับความเชี่ยวชาญในการแสดงศิลปของการลีลาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ซันนี่ได้ดำเนินส่งเสริมพัฒนาขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่ เขาเป็นตัวแทนของ BDF ทั้งในบริธิช เคาน์ซิล และในสภาลีลาศนานาชาติ ( International Council ) เขาเป็นผู้มีความหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี แต่ก็มีความเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพอ่อนน้อม เขาชอบทำอาหารเลี้ยงกันในวันฉลองคริสต์มาส ปกติแล้วยามว่างจะพาสุนัขตัวโปรดออกไปเดินเล่น เขาชอบสูบซิการ์ ดื่มบรั่นดีและแชมเปญ และชอบขับรถซิ่งด้วย

ส่วนแอนโทนี่ เฮอร์เล่ย์ ( Anthony Hurley ) ซึ่งรู้จักกับข้าพเจ้าสมัยเรายังเป็นอเมเจอร์ด้วยกันที่แบล็คพูล ( ซึ่งต่อมาเขาเป็นประธาน BDF ) ได้กล่าวว่า นามของซันนี่ บินิค ในความรู้สึกของเขานั้น มันฝังลึกอยู่ในความทรงจำอย่างไม่มีวันลืม ถ้าจะกล่าวถึงซันนี่ บินิคแล้ว มันมากมายยิ่งใหญ่เกินจะบรรยายได้ จึงพูดได้แต่เพียงว่า ใครก็ตามที่รู้จักซันนี่แล้ว จะต้องรักและนับถือในตัวซันนี่และในความดีของเขา นักแข่งขันลีลาศที่เคยร่วมแข่งขันกับเขา ล้วนแต่ให้ความยกย่อง ชื่นชมและนับถือในความสามารถของซันนี่ บินิค ทั้งนั้น

เขาเป็นผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุ่มเทให้ด้วยความมีน้ำใจ เป็นบุคคลที่วงการลีลาศต้องจดจำเป็นพิเศษ ในความมีน้ำใจของเขา แม้กระทั่งเมื่อเขาป่วยมาก รู้ว่าคงมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน แต่ด้วยใจรักและจิตใจจดจ่ออยู่กับลีลาศ เขายังอุตส่าห์เดินทางไปแบล็คพูล เพื่อเข้าประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ BDF ( ซึ่งเขาเป็นแกนนำในการก่อตั้ง )

และแล้วในวันนั้นเอง ที่ 31 พฤษภาคม เขาก็เสียชีวิตคาพวงมาลัยขณะเดินทางด้วยวัย 80 ปี สังขารของเขาสูญสิ้นไปแล้ว แต่ความดีของครูซันนี่ บินิค ยังคงประทับใจลูกศิษย์และเพื่อนนักลีลาศทั้งหลาย ความมีน้ำใจ เอื้ออาทรต่อวงการลีลาศ ต่อนักแข่งขัน และนักโชว์ลีลาศ ยังคงประทับอยู่ในใจของเขาทั้งหลายไม่มีวันลืม





ที่มา: Letter Service จากสมาคมลีลาศแห่งประเทศไทย ถึงสมาชิก